วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

How to train in bujinkan


เริ่มต้นชื่อเรื่องแบบนี้ เพราะได้มีโอกาสได้อ่านบนความอยู่บทความหนึ่ง ใน  Bujinkan Magazine ซึ่งน่าจะหลายปีแล้ว ของ Shidoshi Chris Carbonaro แล้วมีประโยคหนึ่งเขียนไว้ว่า
This art is only for those who seek it out.
This is not commercial art.
เป็นประโยคที่ผมคิดว่าน่าจะตอบคำถามได้หลาย ๆ อย่างสำหรับหลาย ๆ คนที่สนใจในบูจินกันและแม้กระทั่งผู้ฝึกที่กำลังฝึกอยู่
         ก่อนหน้านี้ประมาณกลางปีผมได้มีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้ารับการฝึก (วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟัง) หลังจาก Trip นั้นผมได้พบอะไรหลาย ๆ อย่างซึ่งทำให้มุมมองจากเดิมที่มีกลับเปลี่ยนไป และทำให้ผมยิ่งเข้าใจประโยคนี้มากขึ้น
     
        การฝึกบูจินกันในโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย สิ่งแรก ๆ ที่คุณจะต้องเจอคือการฝึก Junan Taiso, Ukemi, Taisabaki  กล่าวง่าย ๆ คือการฝึกการม้วนหน้า ม้วนหลัง และการล้มต่าง ๆ เพื่อใช้ป้องกันการบาดเจ็บ และเรียนรู้พื้นฐานต่าง ๆ เช่นท่ายืน (kamae) และ Kihon happo และ Sanshin no kata รวมถึง Hanka และเทคนิคต่าง ๆ จาก Tenchijin Ryaku No Maki ตั้งแต่ผู้ฝึกทั้งในระดับต้น และผู้ฝึกในระดับสูงขึ้นมาก็ยังฝึกกันอยู่ ยิ่งโดยเฉพาะผู้ฝึกที่อยู่ในระดับก่อนสายดำยิ่งควรรู้และเข้าใจพื้นฐานที่กล่าวมา

เมื่อได้สายดำขั้นที่ 1 แล้ว นั้นหมายถึงคุณพร้อมที่จะเริ่มต้นเรียนรู้ 

         เมื่อเข้าใจในพื้นฐานที่กล่าวมาแล้ว ในบูจินกันยังมีอีก 9 สายวิชาให้ฝึก ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนไม่เยอะ แต่อย่างน้อยผู้ฝึกหลายคนกว่าจะได้สายดำขั้นที่ 1 ใช้เวลาถึง 5 ปีก็มี และหลังจากที่ผมประสบพบเจอมาหลังจากกลับจากประเทศญี่ีปุ่นนั้นสรุปได้เลยว่าเป็นวิชาที่จะต้องเรียนรู้กันทั้งชีวิต เพราะอาจารย์ที่สอนเราก็ยังคงฝึกอยู่ ซึ่งแน่นอนเราไม่มีทางตามทัน

กล่าวมาถึงจุดนี้ ผมก็สามารถบอกได้ว่า "How to train in bujinkan"(Thailand)  แต่แน่นอนคนที่ไม่เคยเข้ารับการฝึกไม่ทราบแน่นอนว่าที่กล่าวมาฝึกอย่างไร และแน่นอนคุณจะรู้ได้ก็เมื่อเข้ารับการฝึกแล้วเท่านั้น และแน่นอนกว่านั้นคุณจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อคุณเข้ารับการฝึกไปสักระยะเป็นระยะเวลานานพอสมควรเท่านั้นเช่นกัน  แต่อย่างน้อยสำหรับคนที่คิดจะเริ่มฝึกจะได้ทราบและทำใจพร้อมที่จะเข้าฝึกเพราะ "This art is only for those who seek it out"

อ้าว! ยังเหลืออีกประโยค
คิดดูง่าย ๆ ครับ กว่าอาจารย์จะสามารถทำการเปิดสอนได้ ใช้เวลากี่ปี และปัจจุบันอาจารย์ยังเข้าฝึกอยู่ การฝึกในสมัยเริ่มต้นในประเทศไทยไม่มี มีแต่ที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เริ่มต้นที่อาจารย์ ค่าฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งละ 1000 บาท และเปิดสอนในไทยมาเป็นเวลานับ 10 ปี ซึ่งนับจากเริ่มต้นจนปัจจุบันก็ยังคง Concept เดิมคือ

"โรงฝึกนี้ตั้งใจจะเปิดขึ้นเพื่อผู้สนใจในวิชานินจุสสึที่แท้จริง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ในด้านธุรกิจ โดยได้รับแรงบรรดาลใจจากอาจารย์มาซึอะกิ ผู้ที่เป็นเจ้าสำนักของบูจินกัน และ อาจารย์ชิราอิชิซึ่งเป็นชิฮันประจำตัวทำให้โรงฝึกนี้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับผู้ที่สนใจฝึกวิชานินจุสสึ หรือ บูโด ไทจุสสึที่แท้จริง "

แค่นี้สำหรับผมชัดเจนครับสำหรับคำว่า This is not commercial art.

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Bujinkan Thailand กับกิจกรรมสิ้นปี 2556



ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับกิจกรรมส่งท้ายปี 2556

สำหรับปีนี้ก็เป็นอีกปีหนึ่งถึงแม้สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้อาจจะเป็นอุปสรรคในการเดินทางบ้าง แต่ก็มีสมาชิกเข้ารับการฝึกกันอยู่เยอะพอสมควร โดยกิจกรรมปีนี้เหมือนกับทุก ๆ ปี ซึ่งคือเข้ารับการฝึกและช่วยกันทำความสะอาดโรงฝึก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ ที่ดี ซึ่งยังคงการปฏิบัติกันมา

ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่กับโรงฝึกมานานพอสมควร  ซึ่งเห็นความแตกต่างและการเติบโตของโรงฝึกตั้งแต่อตีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับปีนี้เป็นอีกปีที่ดี มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลง


  • เรามีกลุ่มฝึกเปิดขึ้นใหม่ ทั้งกลุ่มฝึกหลักสี่, กลุ่มฝึกชิดลม และคาบเกี่ยวไปจนถึงปีหน้าที่จะมีกลุ่มฝึกสมุทรปราการและกลุ่มฝึกฉะเชิงเทรา เปิดขึ้นอีก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการฝึก (ข้ออ้างน้อยลงสำหรับการเดินทางหรือวันที่เปิดสอน)
  • เรามีการเปิด คอร์สสอนสำหรับเด็กอายุประมาณ 12 ปี เพื่อขยายโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ
  • เรามีผู้ฝึกได้เดินทางไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่น 
  • เรามีผู้ฝึกที่ได้รับการเลื่อนสายตามความสามารถและอื่นๆ อีกมากมาย
  • เรามีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนไม่ถึง 10 คน จนปัจจุบันฝึกครั้งหนึ่ง ประมาณ 30-40 คนก็มี


ซึ่งเป็นพัฒนาการเป็นไปในแนวทางที่ดี และยังคงยึดถือแนวทางปฏิบัติในรูปแบบที่เป็นมา ซึ่งเกิดจากการสร้างสมและสั่งสอนที่ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง การสอนซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว แต่รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตน ปรัญชา แนวคิดต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกรวมอยู่ในคำว่า "โรงฝึก"

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จริงหรือปลอม สิ่งที่ควรรู้ก่อนเลือกเรียน



เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนผมได้มีโอกาส เข้าชมงานแสดงศิลปะการต่อสู้ (Embu) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการสาธิต ศิลปะการต่อสู้ชนิดต่าง ๆ โดยผู้สาธิตเป็นนักศิลปะการต่อสู้จากประเทศญี่ปุ่น
สำหรับผมถือว่าเป็นงานที่หาดูยาก หลังจากการสาธิตจบลง ก็ได้ข้อคิดหลาย ๆ อย่างจากงานนี้
อย่างน้อย ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ของจริง เป็นอย่างไร

ซึ่งการที่จะเลือกเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอะไรสักอย่าง อย่างแรกที่ควรพิจารณาคือจุดนี้
หากเริ่มต้นด้วยการเข้าเรียนในโรงฝึกที่ปลอม จะมีข้อเสียตามมาอีกหลายอย่าง ทั้งเสียเงิน เสียเวลา และรวมถึงความปลอดภัย ซึ่งโรงฝึกประเภทนี้มักไม่มีความใส่ใจในผู้ฝึก

ปัจจุบันการเปิดสำนักหรือการตั้งตนเองเป็น Soke มีเกิดขึ้นมากมาย หลายอย่างที่ควรยึดถือ ถูกลืมเลือนไป

  • แนวความคิดที่ถูกต้องที่ควรยึดถือ กลับไม่ได้รับการถ่ายทอด 
  • การอยู่แต่ในความฝัน ของทั้งผู้เปิดสอนและผู้เข้ารับการสอน 
  • การไม่ใส่ใจของผู้ที่จะเข้ารับการฝึก่ในการตรวจสอบหรือหาข้อมูล 
นินจัสสึ ก็เป็นอีกวิชา ที่มีผู้แอบอ้าง ไม่ใช่น้อย 
ดังนั้น เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ที่จะเข้ารับการฝึกที่จะต้องตรวจสอบให้ดี ผมมีบทความหนึ่ง ซึ่งอาจารย์เอกเป็นผู้เขียนไว้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา 

บทความที่นำมานี้เป็นบทความที่ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ได้อย่างดี หากผู้ที่ต้องการเข้ารับการฝึกศึกษาให้ดี ก็เป็นผลประโยชน์กับตัวผู้ที่จะเข้ารับการฝึกเองอย่างแน่นอน 


วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ข้อคิดจากอาจารย์



ข้อคิดจากอาจารย์


"ปัจจุบันการแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ทเป็นที่แพร่หลาย ไม่ว่าตามเวปบอร์ด หรือ social network ซึ่งที่พบเจอมีทั้งผลดีและผลร้ายปะปนกันไป ผลดีก็อย่างเช่นการทำให้คนได้รับข้อมูลมากขึ้น
การเผยแพร่แนวคิดที่ถูกต้องออกไป แต่ผลร้ายก็มีเช่น การให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง จากคนที่ไม่รู้ หรือฝึกฝนมาเพียงเล็กน้อย
ในบูจินกันสิบกว่าปีผ่านมาตั้งแต่มีการเริ่มใช้อินเตอร์เน็ท อาจารย์มะซะอะกิจะบอกให้ระมัดระวัง
การให้ข้อมูล หรือ การตอบคำถาม เพราะการตอบคำถามโดยส่วนมากเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว
ไม่ได้มาจากโรงฝึก ซึ่งบางครั้งอาจจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับแนวทางของโรงฝึก แต่ทำให้ความเข้าใจของคนทั่วไปคลาดเคลื่อนว่าเป็นความเห็นของโรงฝึกได้ ซึ่งคนที่ให้ข้อมูลผิดไปก็มักไม่ได้รับผิดชอบกับข้อมูลของตนเท่าไร
ดังนั้นหากมีข้อสงสัยในบูจินกันมีคำกล่าวอยู่ว่า สำหรับนักเรียนผู้ฝึกที่มีปัญหาสงสัยให้ “ask your sensei” หรือ ถามผู้สอนไม่ใช่ใช้การคาดเดาด้วยตัวเอง เพราะมีเรื่องอีกมากที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ เช่น กฏระเบียบหรือข้อห้ามต่าง ๆ

ขอให้สมาชิกทั้งใหม่และเก่าทำความเข้าใจในเรื่องนี้ด้ว"

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556


เริ่มต้นกับ Bujinkan budo taijutsu 



"อยากเรียนวิชานี้มาก ทำอย่างไรดี" เป็นคำถามที่ผมได้ยินอยู่บ่อยครั้ง และผลที่เกิดขึ้นทุกครั้งคือ
"คนที่โทรมาสอบถามไม่เคยมาเรียน และคนที่มาเรียนไม่เคยโทรมาสอบถาม"
จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นนั้นง่ายมาก ๆ คือ มาฝึก

จากประสบการณ์ที่มีตั้งแต่เริ่มฝึกจนถึงปัจจุบัน เจอความเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร 
ผมเริ่มต้นฝึกตั้งแต่ประมาณปี 1999 ซึ่งถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นปีแรก ๆ ที่มีการเปิดสอน Bujinkan budo taijutsu 

สมัยนั้น Internet ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงเหมือนในสมัยนี้ การเดินทางก็ต้องถือว่าสมัยนี้สบายกว่า  การหาข้อมูลในวิชาใดวิชาหนึ่งนั้น ถึงได้ว่ายาก ซึ่งเราไม่มีทางทราบได้ว่าวิชานั้น ๆ จะเป็นอย่างไร นอกจากไปฝึก โดยห้องที่ใช้ฝึกในขณะนั้นมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน  แต่ก็ยังมีผู้ที่สนใจเข้าเรียนอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งคนต่างชาติก็ยังเดินทางมารับการฝึก การเปิดสอนก็เป็นการเปิดสอนที่อาจารย์ผู้สอนต้องการเผยแพร่วิชา ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ ที่มี Internet พร้อมกับการเดินทางที่สะดวกสบาย อยากทราบว่าวิชาไหนเป็นอย่างไรก็หาดูเอาได้ตาม Internet การเปิดสอนก็มีรูปแบบที่แตกต่างไปเน้นไปทางธุรกิจก็มาก เปิดสอนทั้งที่ยังไม่มีคุณสมบัติก็มาก 


ซึ่งนี้เป็นจุดหนึ่งที่ผู้ที่คิดอยากจะฝึกหรือผู้เข้าฝึกใหม่ๆ นั้น เปลี่ยนแปลงไป 

  • ตั้งคำถามเยอะ ผลสุดท้ายก็ไม่ได้มาฝึก 
  • คิดว่าตัวเองรู้เยอะ เพราะดูจาก Internet ผลสุดท้ายก็ไม่ได้มาฝึก 
  • ขาดความอดทน เพราะสมัยนี้อะไรก็สะดวกไปหมด เลยไม่ทราบว่าการขวนขวายไปฝึกด้วยความลำบากมันมีผลตอบแทนที่น่าชื่นใจอย่างไร ผลสุดท้ายก็ไม่ได้มาฝึก
  • แยกไม่ออกระหว่างยิมกับโรงฝึก จึงแยกไม่ออกระหว่างการจ่ายเงินมาเรียนกับความเคารพที่ต้องมีต่ออาจารย์และรุ่นพี่ ซึ่งเป็นมารยาทต้น ๆ สำหรับโรงฝึก ผลสุดท้ายก็ไม่ได้มาฝึก
จากที่เล่ามาข้างต้นต้องถือว่าผมก็เป็นผู้โชคดีคนหนึ่ง ที่กล้าที่จะเริ่มต้น และหาสิ่งที่ตนเองชอบ เข้ารับการฝึกมาได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้  จึงอยากจะฝากบอกกับใครหลาย ๆ คน ว่าควรเอาความสะดวกสบายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ และหากต้องการมาฝึกจริง ๆ ก็ควรมาค้นหาคำตอบโดยการฝึก ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามและตอบตัวเองจาก You tube 

Start-practice


วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556


Bujinkan กับความเข้าใจผิด Bujinkan คืออะไร 

บทความนี้เขียนไว้นานแล้วก็เอามาลงให้อ่านกัน


หลังจากได้มีโอกาสเปิดทำการสอนมาได้สักระยะหนึ่ง ได้รับโทรศัพท์ สอบถามอยู่เป็นประจำ และ คำถามที่นิยมถามกันก็คือ แล้ว Bujinkan เป็นยังไง
ซึ่งผู้เขียนก็พยายามอธิบายหลายต่อหลายครั้ง แต่หลัง ๆ ผู้เขียนมักจะตอบว่า มาฝึก เดี๋ยวก็รู้ แต่ถึงกระนั้นคำถามนี้ก็ยังมีอยู่เรื่อย ๆ
วันนี้ผู้เขียน เลย นำมาเล่าและอธิบายดูสักหน่อย (ซึ่งเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้)

ก่อนอื่น ในไทย ศิลปะการต่อสู้ และ ศิลปะการป้องกันตัว คนไทยส่วนมากแยกไม่ออก
จนหลัง ๆ เรียก รวม ๆ กันไปซะเลยว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ก็ในประเทศไทยอีกนั้นแหละ (ยังไม่เคยไปประเทศอื่นๆ )
ที่รู้จักกันส่วนมากก็ ยูโด, ไอคิโด้, คาราเต้, เทควันโด พอได้ยินคำว่า Bujinkan ปุ๊บก็เลยเกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันที

A “อ้าวแล้วบูจินกันคืออะไร แล้วมันเป็นยังไง”
B “Bujinkan คือศิลปะการต่อสู้ครับ มีการฝึกอาวุธ การใช้ ร่างกาย ควบคุม หักล๊อค อะไรหลายๆ อย่างโดย Bujinkan มี ทั้งหมด 9 ryu หาอ่านร่ายละเอียดใน web ได้ครับ ”
A “แล้วศิลปะการต่อสู้เป็นยังไง เหมือน ๆ ไอคิโด้ คาราเต้ ประมาณนี้หรือครับ”
B “ไม่ใช่ครับ Bujinkan ก็คือ Bujinkan”
A “ก็เห็นมีทั้ง ควบคุม เตะต่อย ก็ประมาณ เอาหลาย ๆ วิชามารวมกันใช่เปล่าครับ”
B “ไม่ใช่ครับ Bujinkan ก็คือ Bujinkan”
A “ อา ครับ ๆ”
A “เออ แล้ว Bujinkan กับ Ninjutsu นี้อันเดียวกันหรือเปล่าครับ
B “ ครับ เมื่อก่อนเคยใช้ชื่อ Ninjutsu แต่ภายหลังเพื่อไม่ให้เป็นการเข้าใจผิด ก็เลยใช้ชื่อ Bujinkan”
A อ้อ เข้าใจแล้ว ก็คือนินจา แล้วฝึกหายตัวได้จริง หรือเปล่าครับ”
B ……………………………

สำหรับผู้ฝึกหรือบุคคลทั่วไปหลาย ๆ คน มักเข้าใจผิดอย่างที่บทสนทนาด้านบน

จุดหลัก ๆ ที่จะแสดงถึง Bujinkan ได้ดีก็คือแนวคิด (ในความเห็นของผู้เขียน) เพราะจะไปอธิบายท่าที่ฝึกกับคนที่ไม่ได้ฝึกก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี
ขนาดอธิบายกับคนที่ฝึกมาสักพักบางคนยังไม่เข้าใจ ว่ามันต่างกับอันอื่นๆ ยังไง
ในปัจจุบันนี้ ในหลาย ๆ วิชา ได้ถูกพัฒนาไปในแนวทาง ต่าง ๆ กัน
ทั้งการพัฒนาออกไปในรูปแบบเพื่อการกีฬา โดยมีการนำกติกามาจับ นำเอาการแข่งขันเข้ามา
ลดความรุนแรงลง การฝึกต่าง ๆ ก็เน้นเพื่อไปใช้ในการแข่งขัน (ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะต้องคอยระวังกติกาฝึกบ่อยๆ เข้าก็ติด) อันนี้ก็ออกแนว Sport
บ้างก็ฝึกเพื่อเน้นในการป้องกันตัว อันนี้ก็เป็นไปในแนวการ ฝึกศิลปะป้องกันตัว นี้ก็อีกหนึ่งแนวทาง
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในแต่ละวิชาไม่ว่าจะพัฒนาไปในทางใด ก็มีแนวทางและแนวคิดของวิชานั้น ๆ
แต่สำหรับ Bujinkan เป็นการฝึกเพื่อให้เข้าใจตนเอง ฝึกเพื่อเข้าถึงแนวทางของบูโด
Bujinkan ไม่มีการแข่งขัน เพราะเราไม่ใช่กีฬา เราไม่มีการสอบเลื่อนสาย เพราะเราต้องฝึกจนเข้าใจ
เห็นว่าทำได้ เข้าใจแล้วควรจะได้ในระดับใด ฝึกแค่เพียงท่าเดียวแต่ความเข้าใจไม่เหมือนกันยังทำได้ไม่เหมือนกัน หรือเพียงแค่เปลี่ยนคู่แล้วใช้ท่าเดิมก็ยังทำได้ไม่เหมือนเดิม

สำหรับบุคคลที่เข้ามาฝึกในเบื้องต้น (หรือฝึกมานานแล้วแต่ก็ยังไม่อยากจะเข้าใจ) หรือเพียงแค่เข้ามาเห็น
หรือเพียงแค่เข้าไปดูใน youtube เห็นเพียงผิวเผินเห็นท่าไม่กี่ท่า ก็มักด่วนสรุปกันไปเองว่า ว่าท่าคล้าย ๆ กัน น่าจะเอาหลาย ๆ อย่างมารวมกัน
(หากดูใน 9 ryu ของ bujinkan ก็จะเห็นได้ว่า 6 ryu เป็นของ Samurai อีก 3 Ryu เป็นของ Ninjutsu )
หากไม่ได้เข้ามาฝึก ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าความแตกต่างคืออะไร หากเข้ามาฝึกแล้วไม่เปิดใจรับ
หรือคิดว่าตัวเองทำได้แล้วก็ยังยึดติดอยู่กับของเดิม ก็ยังไม่ทราบได้ว่า ความแตกต่างคืออะไร

ผู้เขียนอยากพยายามอธิบายให้เข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ฝึก ก็ไม่สามารถเข้าใจได้แน่นอนว่า
Bujinkan ก็คือ Bujinkan นั่นเอง
แนะนำตนเอง


เริ่มต้นด้วยความสนใจใน ศิลปะการต่อสู้ จึงเริ่มต้นด้วยการฝึกศิลปะการต่อสู้ที่รู้จักกันทั่วไปในประเทศไทยซึ่งสมัยก่อนหน้านี้มีไม่กี่วิชาที่เป็นที่รู้จัก และต่อมาภายหลังได้มีโอกาสฝึก Jujitsu และท้ายสุดก็มีโอกาสได้เข้าฝึก Bujinkan budo taijutsu จนถึงปัจจุบันนี้


วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ยินดีต้อนรับสู่ Start Practice Blog 
กับความตั้งใจ ที่จะแชร์ประสบการณ์และแนวความคิดต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้, พบเห็น หรือสิ่งดีๆ ที่ตกทอดมาจากอาจารย์