วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แนวคิดเพิ่มเติมและบทสรุปจากการอบรมป้องกันตัววันที่ 08 สิงหาคม 2558

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับกิจกรรมดี ๆ ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ของโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย
นั้นคือ การเปิดอบรบการป้องกันตัวเบื้องต้นสำหรับสำหรับสุภาพสตรี ซึ่งเป็นกิจกรรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

ซึ่งทางโรงฝึก ตัวผมเอง และสมาชิกท่านอื่นๆ ซึ่งเป็นหัวหน้าโรงฝึกของบูจินกันในประเทศไทย ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ จึงได้ขออนุญาต อาจารย์เพื่อทำการเปิดอบรมครั้งนี้และก็ได้รับการชี้แนะจากอาจารย์ถึงประเด็นสำคัญของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จนกิจกรรมก็ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ซึ่งสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้นั้น ทางโรงฝึกได้เน้นถึงสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญและแนวคิดในการป้องกันตัวซึ่งรับรองได้ว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้เข้ารับการอบรมอย่างแน่นอน ซึ่งก็ตรงตามวัตถุประสงค์ในครั้งนี้ แต่แน่นอนยังไม่ทั้งหมด เพราะจริง ๆ แล้วทางโรงฝึกอยากเผยแพร่แนวคิดการป้องกันตัวนี้ให้กับกลุ่มคนในจำนวนที่ไม่จำกัด แต่แน่นอน ว่าหากไม่ได้เข้ารับการอบรม ก็เป็นไปได้น้อยที่จะทราบถึงแนวคิดทั้งหมดได้ ดังนั้นสำหรับบทความนี้ผมจึงอยากจะแนะนำให้กับบุคคลอื่นๆ ได้เข้าใจและหันมาสนใจเข้ารับการอบรมกันมากยิ่งขึ้น- ไม่ใช่เฉพาะกับกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยโรงฝึกบูจินกันประเทศไทยเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นประโยชน์ ที่ใดจัดก็สามารถเข้าร่วมได้ทั้งนั้น  ผมสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

เหตุผลที่ควรเข้ารับการฝึก 
1. เหตุผลที่จะเข้ารับการฝึก สำหรับข้อนี้ชัดเจนมาก แต่ในความรู้สึกผมกลับเป็นข้อที่หลาย  ๆคนให้ความสำคัญน้อยที่สุด หลาย ๆ คนไม่ได้คิดถึง ว่าอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ หรือง่าย ๆ เราสามารถเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อก็ตาม ซึ่งจุดนี้เห็นได้ชัดเจนมาก เพราะขนาดเปิดอบรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายยังมีผู้สอนใจเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เพียงเท่านั้น
2. ศิลปะการป้องกันตัวไม่ได้จำกัดเพียงแค่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ทุกเพศ ทุกวัยก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ แต่อาจจะมีเหตุผลอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวแปรในการพิจารณา สำหรับข้อนี้ทางโรงฝึกบูจินกันประเทศไทยได้เห็นถึงข้อนี้ จึงได้กำหนดเปิดอบรมเฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น เพราะอย่างน้อยก็เบาใจได้ว่าจะปลอดภัยแน่นอน และก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสามารถช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

เหตุผลและหลักพิจารณาที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาในการเข้ารับการฝึก 
1. สถาบันที่ทำการเปิดสอน - สิ่งแรกที่ผู้เข้ารับการอบรมควรตรวจสอบเบื้องต้นว่าสถาบันที่ทำการเปิดสอนนั้นมีประวัติอะไรอย่างไรมาจากไหน เพื่อที่จะได้ทราบได้ว่าสถาบันนั้น  ๆ มีความน่าเชื่อถืออย่างไร
2. วิทยากรที่ทำการฝึกอบรม  - ลำดับต่อไปที่ผู้เข้ารับการอบรมควรจะตรวจสอบอีกเช่นกัน ควรเลือกวิทยากรที่มีความรู้ที่ได้รับการฝึกหรืออบรมมาอย่างถูกต้อง เพราะแนวคิดหรือสิ่งที่วิทยากรสอนเรานั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป
3. สำหรับการสอนหลัก ๆ ผมพยายามเน้นแนวคิดการป้องกันตัวให้สมาชิกทราบในแต่ละจุด และวิธีการหรือท่าต่าง ๆ ในการป้องกันตัวก็เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติม เพื่อ Support ทุกสถานการณ์ที่ผู้เข้ารับการอบรมอาจจะพบเจอได้ สำหรับข้อนี้ก็สำคัญอีกเช่นกัน ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิดในการวางแนวทางสอนในลักษณะนี้ เพราะต่างคนก็อาจจะต่างความคิด แต่สำหรับประสบกาณ์ที่ผ่านมาสำหรับผมนั้น ท่าไม่สามารถใช้ได้ ถ้าไม่รู้จะใช้อย่างไร
4. การฝึกท่าป้องกันตัวต่าง ๆ ผู้ฝึกก็ควรพิจารณาเช่นกัน บางครั้งต้องนึกถึงหลักความเป็นจริง เพราะการอบรมนั้น เป็นสถานการณ์ที่จำลองขึ้น ท่าที่ใช้สอนจะคิดให้หวือหวาขนาดไหนก็ได้ แต่หากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้เพียงพอหรือไม่เข้าใจถึงหลักการจริง ๆ แล้ว ท่าที่สอนให้กับผู้เข้ารับการอบรมนั้น ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการแนะนำให้ผู้เข้ารับการอบรมไปตาย หรือที่เข้าเรียกกันว่าท่าตายนั้นเอง

ในส่วนต่อไปผมนำบรรยากาศในการฝึกมาให้ชมกันเล็กน้อย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปแบบเป็นกันเอง และผู้เข้าฝึกมีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะรับการฝึก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก





และสำหรับท้ายสุดนี้ก็ขอขอบคุณผู้เข้ารับการอบรมสำหรับคำขอบคุณเล็ก ๆ ถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่าเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคม ก็หวังเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้ารับการอบรมว่าจะสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย และ สำหรับผู้ที่ได้อ่านบทความนี้ก็จะก้าวข้ามข้อจำกัดอื่นๆ และเข้ารับการอบรมในโอกาสอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไป



วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โรงฝึกบูจินกันประเทศไทยเปิดสอนป้องกันตัวเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ


เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2558
โรงฝึกบูจินกันประเทศไทยจะจัดอบรมศิลปะการป้องกันตัวสำหรับสุภาพสตรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลทั่วไป
กิจกรรมในครั้งนี้จะทำการฝึกศิลปะการป้องกันตัวเบื้องต้น รวมทั้งแนวคิดเพื่อการป้องกันตัวแบบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับสุภาพสตรี โดยใช้ทักษะในรูปแบบของโรงฝึกบูจินกัน
การอบรมจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคมนี้ เวลา 13.00 น. - 17.00 น. 
ณ.ห้องฝึกชั้น 2 ตึกช้าง แยกรัชโยธิน
กิจกรรมนี้รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 30 ท่าน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนเข้าอบรมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0860068745 และ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ด้วยเบอร์เดียวกัน
(ไม่รับลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ อีเมล์)

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Kihon happo

Kihon happo 


สำหรับผู้ฝึกหลายคนและสำหรับผู้ที่ได้อ่าน blog ของโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย หลายคนคงคุ้น กับคำว่า kihon happo แต่หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่า kihon happo คืออะไร

In Ninpo Taijutsu, We train in unique ninpo techniques called kihon happo the "Basic eight." these kihon happo are the starting point for taijutsu , and at the same time, something to which you return after acquiring other ninja moves. they are basic techniques, but at the same time more important than anything else. Certain numbers offer secret teachings in budo and ninpo taijutsu, and eight is one of them. it you place the figure 8 on its side, you get "∞" : infinity.

สำหรับ kihon happo นี้คือพื้นฐานทั้ง 8 ท่า เป็นพื้นฐานที่ผู้เข้ารับการฝึกบูจินกันทุกคนต้องรับการฝึก แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องฝึกเฉพาะ kihon happo เพียงอย่างเดียว แต่ kihon happo เป็นตัวที่จะสามารถให้ผู้ฝึกสามารถเริ่มต้นได้เข้าใจในการฝึกได้ดียิ่งขึ้นเมื่อรับการฝึก kihon happo แล้วก็จะต้องทำการฝึกการเปลี่ยนแปลงของท่าหรือที่เรียกกันว่า hanka ก็จะทำให้สามารถทำให้พัฒนายิ่งๆขึ้นไปแต่หากยังไม่สามารถฝึก kihon happo ได้ดี ก็จะไม่สามารถฝึกในระดับที่สูงขึ้นไปได้ สำหรับ kihon happo นั่นที่มีอยู่ทั้งหมดแปดท่าเพราะเลขแปดถ้าวางแนวนอนก็เหมือนสัญลักษณ์ infinity ซึ่งหมายถึงการผันแปรได้อย่างไม่สิ้นสุดนั้นเอง

ตามปกติ kihon happo มีทั้งหมดแปดท่า แต่จากที่ List มาในด้านล่างนี้มี 9 ท่า ซึ่งอาจจะมีเปลี่ยนแปลงในบางทีได้แก่

1. ICHIMONJU NO KATA 
2. JUMONJI NO KATA
3. HICHO NO KATA 
4. OMOTE GYUGUDORI  
5. GENSEGI-NAGE  
6. ONIGUDAGI
7. URA GYUGUDORI
8. MUSHA-DORI
9. MUSO-DORI

 จากที่อธิบายมาจากด้านบนนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นฐานเท่านั้นยังมีส่วนอื่นๆที่ระดับก่อนสายดำควรจะต้องรู้ในการฝึก. และยังมีท่าพื้นฐานใน Ryu ต่างๆที่ยังคงต้องเรียนรู้ในระดับต่อไปอีกมาก ท้ายที่สุดนี้ก็ยังคงเน้นย้ำที่เรื่องเดิมคือถึงแม้จะเรียก Kihon happo พื้นฐานทั้ง 8 ก็ตามแต่มีความสำคัญมากเกินกว่าที่จะมองข้ามแล้วละเว้นการฝึกได้ 

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้คือการฝึก


ปัจจุบัน สำหรับ บูจินกันในประเทศไทยนั้น เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมีโรงฝึกหลักอยู่ที่ตึกช้างและสายดำระดับ 5 จากโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย ทำการเปิดโรงฝึกอยู่อีกหลายแห่งในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการฝึกได้เพิ่มมากขึ้น  ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกใหม่นั้น หลายคนไม่มีประสบการณ์การฝึกในศิลปะการต่อสู้เลย ซึ่งบางครั้งอาจจะมีความไม่เข้าใจในการฝึกรวมถึงแนวทางการปฏิบัติในการเข้ารับการฝึกซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งสำหรับบทความนี้ผมพยายามจะอธิบายและแนะนำให้เข้าใจ





    สำหรับศิลปะการต่อสู้มีการถ่ายทอดใน 3 รูปแบบ คือ Kuden การถ่ายทอดจากคำพูด,  Shinden การถ่ายทอดผ่านจิตใจ, และ Taiden คือการถ่ายทอดโดยใช้ร่างกาย  การถ่ายทอดต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดควบคู่กันไป แต่สิงที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นการถ่ายทอดหลัก ๆ นั้นคือ Taiden คือการถ่ายทอดโดยใช้ร่างกายนั้นเอง ในจุดนี้ อาจารย์ได้เขียนอธิบายเอาไว้บ้างแล้ว ใน Shin gi tai blog แต่สิ่งที่ผมจะอธิบายในบทความนี้คือ Taiden ซึ่งเป็นการปฏิบัติตัวในการฝึก 

    ในการฝึกแต่ละ Class นั้นเน้นการฝึกปฏิบัติเป็นหลัก เริ่มต้นแต่การฝึก Ukami หรือการฝึกล้มในท่าต่าง ๆ นั้น อาจารย์จะเป็นผู้แสดงให้ดูพร้อมทั้งอธิบายหลักการในการม้วนต่างๆ  ให้ฟัง แล้วผู้เข้ารับการฝึกต้องปฏิบัติ คือทำตาม เช่นเดียวกัน สำหรับในการฝึกในส่วนอื่นๆ อาจารย์ก็จะเป็นผู้แสดงท่าต่าง ๆ ให้ดูพร้อมทั้งอธิบายการเคลื่อนไหวต่างๆ และปล่อยให้ผู้เข้าฝึกเข้าทำการฝึกกับคู่ฝึกของตน ตามปกติสำหรับผู้ฝึกใหม่จะได้รับการจับคู่กับสายระดับสูงกว่าตน เพื่อเป็นตัวอย่างและเพื่อความปลอดภัยในการฝึก ซึ่งสิ่งที่ผู้ฝึกควรปฏิบัติคือทำตาม และแน่นอนสำหรับผู้เข้าฝึกจะสามารถทำตามได้นั้นคือต้องดู ดูในสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างตั้งใจซึ่งหากจะคิดหาเหตุผลในตอนนั้น ๆ เลย ว่าทำไมถึงก้าวแบบนี้ เคลื่อนไหวแบบนี้นั้นไม่มีทางเข้าใจแน่นอนแต่จะสามารถเข้าใจได้เมื่อเริ่มทำการฝึกกับคู่ของตน หากใครเข้ารับการฝึกมาบ้างแล้วอาจจะมีความสงสัยว่าทำไมถามคู่ฝึกของตนเองแล้วส่วนใหญ่จะไม่ตอบและจะบอกแต่เพียงว่าลองทำในสิ่งที่เห็นเท่านั้น สาเหตุก็เพราะจุดนี้ คือถึงแม้จะสายสูงแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนทั้งหมดก็ต้องทำการฝึกเพื่อให้เข้าใจเช่นกัน  แต่ผู้ฝึกใหม่หลายท่านจึงเลือกวิธีการถาม คู่ฝึกของตน ถามมากๆ  เข้ากลายเป็นการสนทนากันไประหว่างผู้ฝึกกันเองไป ผลสุดท้ายกลับไม่ได้ทำการฝึกซึ่งถือเป็นการรบกวนคู่ของตนเองทำให้ไม่ได้รับการฝึกไปด้วย จริง ๆ แล้วอาจะมีผลเสียมากกว่านั้นหากผู้ที่ถามเข้าใจในท่าที่อาจารย์สอนจริง และแนะนำได้ถูกต้องก็โชคดีไป แต่หากไม่ก็จะได้รับการแนะนำที่ผิด ๆ ซึ่งไม่ดีสำหรับผู้ฝึกใหม่แน่นอน  ทางที่ดีที่สุดคือ ฝึกตามที่อาจารย์สอน พยายามทำท่าให้ได้ตามที่อาจารย์ทำ อาจจะไม่เข้าใจในครั้งแรกแต่ครั้งต่อไปก็จะสามารถเข้าใจในท่านั้น ๆ ได้ไม่มากก็น้อย นี้คือหลักปฏิบัติที่ควรปฏิบัติในระหว่างเข้ารับการฝึก 

Don’t think during practice. Do! The more you think, the further from the truth of budo you get Budo is Not an academic subject


    แน่นอนสำหรับผู้เข้าฝึกใหม่ที่ไม่เข้าใจถึงแนวทางการฝึกนี้ และอาจมองภาพเหมือนการเรียนวิชาการทั่ว ๆ ไปหวังว่าเมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วจะสามารถปรับตัวได้ไม่มากก็น้อย 




วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Training trip in japan 2015-Part2


สรุปการเดินทางเข้าฝึกที่ญี่ปุ่นปี 2015 ตอนที่ 2


     จากตอนแรกที่ได้เล่าให้ฟ้งโดยรวมถึงสิ่งที่พบเจอและทำให้ได้แนวคิดมุมมองของอาจารย์ที่ไม่เคยได้คิดถึงมาก่อนนั้น เช่นกันสำหรับตอนที่สองนี้ ผมยังได้แนวคิดที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยคิดเลยอีกจุดหนึ่งเช่นกัน แต่ต้องออกตัวก่อนว่าส่วนนี้เป็นแนวคิดส่วนตัวล้วน ๆ


     จากการเดินทางในครั้งนี้ต่างจากการไปครั้งที่แล้วพอสมควร ตื่นเต้นน้อยลงมีเวลาได้เห็นอะไรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงบรรยากาศรอบตัวในการเข้ารับการฝึกใน Class ของอาจารย์มาซาอะกิ  บรรยากาศที่ว่านี้หมายถึงช่วงระหว่างที่ทำการเปลี่ยนชุดฝึกเรียบร้อยแล้วและรออาจารย์มาซาอะกิเดินทางมาถึง สิ่งที่ผมสังเกตเห็นนี้คือ คือการปฎิบัติตัวของอาจารย์ ชิราอิชิและอาจารย์เอก ผมคิดว่าหลายคนอาจจะไม่เห็น เพราะเป็นการกระทำที่ธรรมดามากๆ ดูเหมือนเป็นการปฏิบัติที่ปกติ ผมขอเล่าเป็นเหตุการณ์ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเดินทางถึงที่ถึงโรงฝึก อาจารย์ชิราอิชิมาถึงพร้อมเปลี่ยนชุดฝึกเรียบร้อยแล้ว และทักทายพูดคุยกับผู้เข้ารับการฝึกท่านอื่นๆอย่างเป็นกันเอง เมื่อเราเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้วก็ยืนรออาจารย์มาซาอะกิเดินทางมาเมื่อใกล้ๆถึงเวลาผมสังเกตเห็น อาจารย์ชิราอิชิพอดีเห็นอาจารย์ไปยืนอยู่ตรงหน้าประตู ผมสังเกตเห็นอย่างนั้นประมาณสองรอบก็ยังคิดสงสัยอยู่แต่มาทราบอีกทีเมื่อรอบที่สาม นั้นคืออาจารย์มาซาอะกิเดินทางมาถึงนั้นเอง ซึ่้งหมายความว่าอาจารย์ชิราอิชิ จะไปยืนรอรับ อาจารย์มาซาอะกินั้นเอง
หลังจากนั้นอาจารย์ชิราอิชิก็ช่วยจัดเตรียมหลายๆอย่างและช่วยหยิบสิ่งต่างๆ เช่นเสื้อผ้าให้กับอาจารย์มาซาอะกิในขณะที่เตรียมตัวก่อนสอน หลายคนอ่านมาถึงจุดนี้แล้วอาจจะคิดคิดว่าผมหมายถึงการปฏิบัติตัวของลูกศิษย์กับอาจารย์ว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของนักศิลปะการต่อสู้ แต่จุดนี้เป็นแค่เพียงจุดหนึ่งเท่านั้น แต่มีอีกจุดหนึ่งสำหรับสิ่งที่ผมเห็นนี้มันกลับทำให้ผมมีคำถามขึ้นมาว่า

       "ฝึกไปเพื่ออะไร" 

สำหรับผมก่อนหน้านี้เคยมีคำถามในตอนเริ่มฝึกว่าเหตุใดจึงเข้ารับการฝึก ในลำดับต่อมาเมื่อฝึกมาได้ระดับหนึ่งผมก็ลืมคำตอบว่าเหตุใดจึงเข้ารับการฝึกไป แต่เปลี่ยนมาเป็นการตั้งเป้าหมายแทน ซึ่งก็เคยแนะนำผู้ที่เข้าฝึกใหม่หลาย ๆ คนไปว่า ตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ไม่ไกลเกินไปนัก จะได้มีกำลังใจและสามารถฝึกต่อไปได้ เช่น สายเขียวก็ตั้งเป้าว่าจะฝึกให้ได้สายดำขั้นหนึ่ง เมื่อได้สายดำขั้นหนึ่งแล้วก็ตั้งเป้าต่อไปว่าจะต้องได้สายดำขั้น 5 ต่อไป  แต่หลังจากผมสังเกตเห็นสิ่งที่ อาจารย์เอกและอาจารย์ชิราอิชิ ปฏิบัติตามที่ได้เล่าไปก่อนหน้า ในใจคิดว่าปฏิบัติแบบนั้นไปทำไม จริงๆ อาจารย์เอกก็ขั้น 15 แล้วต้องดูแลเราขณะไปญี่ปุ่นทำไม อาจารย์ชิราอิชิก็ขั้น 15 มานานแล้วยังปฏิบัติตนอย่างนี้ทำไม พอคิดได้แล้วมาสำรวจตนเองเหมือนจะเริ่มเข้าใจว่าจุดหนึ่งตัวเราเองก็หลงไปชั่วขณะหนึ่งว่าจริง ๆ  แล้วระดับสายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในการฝึก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย ระดับสายเป็นส่วนหนึ่งเพื่อวัดและผลักดัน และแสดงถึงความรับผิดชอบของเราเท่านั้น

"การพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้านนั้นต่างหากที่เป็นจุดมุ่งหมายในการฝึก"

ไม่ได้พัฒนาเฉพาะการฝึกเพียงด้านเดียว สิ่งอื่นๆ ก็ควรต้องพัฒนาด้วยเช่นกัน สำหรับใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คิดว่าการพัฒนาการฝึกเพียงอย่างเดียวไม่พัฒนาด้านอื่นๆ พูดสั้น ๆ ต้องการแค่สาย ก็เพียงพอนั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องผิด แต่สำหรับแนวคิดของผม ถือว่ามันไม่ครบ ยกตัวอย่างเพิ่มเติมที่เห็นได้ใน Trip นี้ คือการปฏิบัติตัวของผู้เข้ารับการฝึกต่างชาติ ที่กระโดดโลดเต้นทำท่าต่าง ๆ ในขณะที่ อาจารย์ให้ออกไปแสดง ซึ่งจริง ๆ สิ่งที่อาจารย์อยากเห็นคือเข้าใจในสิ่งที่สอนหรือไหมให้แสดงออกมา ไม่ได้ให้ไปโชว์ท่าอะไรก็ได้ ทีนี้ลองคิดดูหากชาวต่างชาตินี้ไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทำนี้ผิด และอาจารย์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือนว่าอนาคตข้างหน้าชาวต่างชาตินี้ก็จะนำสิ่งที่ผิด ๆ นี้ถ่ายทอดต่อไป สิ่งที่ถูกต้องที่สุดในความคิดผมคือ ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ชาวต่างชาตินี้ก็ควรพัฒนาตนเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาอีก สำหรับผมนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่พัฒนาด้านอื่นๆ เลยนั้นไม่ได้ แต่ก็เป็นเพียงแนวคิดเพราะสุดท้ายคนที่ปฏิบัติแบบนี้ได้ก็อาจจะคิดว่าตอนเองไม่ได้กระทำอะไรผิดเลยก็ได้ สุดท้ายนี้ต้องขอฝากเอาไว้สำหรับใครหลาย ๆ คน คนจะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเอง สำหรับผมถือว่าโชคดีที่มีอาจารย์นำทางแต่ก็ยังโชคดีกว่าที่ผมเองก็ยอมรับและพยายามจะพัฒนา สำหรับใครหลาย ๆ คนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรหวังว่าอ่านบทความนี้แล้วอาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อยและสามารถเลือกเดินในทางที่ถูกต้องได้ต่อไป




วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

Training trip in japan 2015-Part1


สรุปการเดินทางเข้าฝึกที่ญี่ปุ่นปี 2015 ตอนที่ 1


สำหรับการเดินทาง ไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ เป็นระยะเวลา ประมาณ 7 วัน ในช่วงวันที่ 1-7 มีนาคม ซึ่งมีสมาชิกที่ร่วมเดินทางทั้ง 6 คน โดยในปีนี้มีสมาชิกที่เข้ารับการสอบสายดำระดับ 5 (Sakki Test) จำนวน 4 คน และ ผ่านการทดสอบทั้ง 4 คน ซึ่งสำหรับผมนั้นได้ผ่านจุดตรงนี้มาแล้ว ทำให้ในปีนี้ผมคิดว่าตนเองอาจจะเห็นอะไรที่มากขึ้นจากเดิมในการเดินทางไปครั้งนี้ ในการเดินทางไปครั้งแรกประมาณปี 2013 ผมเห็นแต่อะไรที่แปลกใหม่เหมือนได้สัมผัสกับสิ่งที่อาจารย์เคยบอก แต่สำหรับปีนี้ผมเห็นอะไรต่างออกไป โดยผมคิดว่าสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้จะทำให้หลาย ๆ คนอาจจะพอมองภาพออกว่าในโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย สอนอะไรและฝึกอะไร
11053110_912633125434799_1125315880837594247_o
เรื่องของความเป็นอาจารย์ และ ความรับผิดชอบของอาจารย์
สิ่งแรกที่ผมคิดว่าผมเห็นได้ชัดคือ ความเป็นอาจารย์ และ ความรับผิดชอบของอาจารย์ ผมเข้ารับการฝึกบูจินกันในโรงฝึกบูจินกันประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาพอสมควรเห็นพัฒนาการและสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงฝึกมาเกือบจะตั้งแต่ต้นจากที่มีผู้เข้ารับการฝึกไม่ถึง 4 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกที่เดินทางไปฝึกถึงประเทศญี่ปุ่นและสอบผ่านสายดำระดับ 5 แล้วหลายคน ซึ่งในแต่ละคนนั้นก็จะสามารถเปิดโรงฝีกและทำการฝึกสอนต่อไปได้แล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากเทียบกับระยะเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่อาจารย์เริ่มฝึกจนถึงทำการสอนจนถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ทั้งเรื่องการฝึกรวมถึงความรับผิดชอบต่าง ๆ นี้ได้ถูกถ่ายทอดจากอาจารย์ลงมา
นับจากการเริ่มต้นวางแผนการเดินทางสำหรับผมก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในปีนี้มีสมาชิกที่ร่วมเดินทางไปนั้น หลายคนเพิ่งจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ทำให้ในมุมมองของผมซึ่งต้องจัดเตรียมนั้น ต้องรอบคอบมากกว่าเดิมทั้งในการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ สำหรับสมาชิก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้อาจารย์ยังต้องคอยดูแลและต้องจัดเตรียมเพิ่มเติมให้อยู่ดี
ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นคือต้องคิดถึง ”ส่วนรวม” ก่อน สมาชิกหลายคนยังไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดปัญหาในการเข้าประเทศญี่ปุ่นน้อยที่สุด สถานที่ต่างๆ ที่จะไปจะต้องคิดถึงสมาชิกที่ยังไม่เคยไปด้วย คิดรวมไปกระทั่งวางแผนถึงอาหารที่จะต้องทานในแต่ละมื้อเพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินไป
ต่อไปคือเมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นนับเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่อาจารย์มาดูแล ตลอดไปจนถึงร่วมเข้ารับการฝึกด้วยทุกครั้งเพื่อดูแล เปรียบเทียบง่าย ๆ ครับ เราจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ในทริปนี้ อาจารย์ก็คงจ่ายไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งยิ่งเทียบกับค่าสอนที่เก็บได้คงบอกได้ว่าไม่พอแน่นอน สำหรับผมส่วนนี้สำคัญพอ ๆ กับการฝึก แต่เชื่อว่าหลายคนไม่ได้คิดถึงจุดนี้แน่นอน หากอาจารย์ไม่ได้สอนหรือพยายามให้เราทำในจุดนี้ ถึงวันหนึ่งเราคงไม่สามารถ ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ต่อให้กับลูกศิษย์ได้
ในส่วนต่อไปที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในบูจินกัน บูโด ไทจุสสึนั้น ผู้ที่จะเข้ารับการสอบสายดำระดับ 5 นั้นจะต้องมีสายระดับสูงเป็นผู้รับรอง (จริง ๆ ระดับอื่น ๆ ต่อไปก็เช่นกัน) สำหรับจุดนี้มองได้สองมุม การรับรองเป็นความรับผิดชอบของอาจารย์ แต่ในมุมกลับกันการจะให้อาจารย์รับรองได้ก็เป็นความรับผิดชอบของลูกศิษย์เช่นกัน ในการรับรองสายในระดับสายที่ต่ำกว่าขั้น 5 นั้นมองได้ว่าเป็นแค่ภายในโรงฝึกประเทศไทย แต่สำหรับการสอบระดับ 5 ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นการรับรองระดับโลก เพราะ โดยปกติแล้วการฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นนี้ มีสมาชิกที่เข้ารับการฝึกเดินทางมาจากทั่วโลก
ผมเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ ตอนสมาชิกที่จะเข้าไปทำการสอบนั้นจะต้องนั้นรออยู่ตรงกลางโรงฝึก เมื่อจะทำการสอบนั้น อาจารย์มาซะอะกิ (Soke) จะถามก่อนว่ามาจากไหน แล้วใครเป็นผู้รับรอง ซึ่งอาจารย์เอกยกมือว่าเป็นผู้รับรองภายใต้โรงฝึกบูจินกันประเทศไทย และ มาจากประเทศไทย อาจารย์ มาซะอะกิ ก็ได้เรียกอาจารย์เอกเป็นผู้ทำการทดสอบ ในครั้งนี้มีอีกหลายประเทศซึ่งมีผู้เข้ารับการสอบสายดำระดับ 5 เช่นกัน ที่จำได้ก็เป็นประเทศอเมริกาซึ่งก็เป็นในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจุดนี้เองที่เห็นได้ชัดเจนว่าคนจากทุกมุมโลกที่เข้ารับการฝึกคงไม่รู้จักเราว่าเป็นใคร แต่จะรู้จักเราในฐานะ Thailand ซึ่งในมุมของลูกศิษย์ นั้นถือเป็นความรับผิดชอบทั้งในส่วนของการวางตัว การปฏิบัติตัว และ สิ่งต่างๆ เมื่ออยู่ในโรงฝึกที่ประเทศไทยรวมถึงในประเทศญี่ปุ่น เพราะสิ่งที่ปฏิบัตินั้นส่งผลทั้งกับประเทศไทยและกับอาจารย์ด้วย
ส่วนในอีกมุมหนึ่งสำหรับความรับผิดชอบของอาจารย์ แน่นอนว่าอาจารย์มาซาอะกิและชิฮันหลาย ๆ ท่านรู้จักอาจารย์เอก ดังนั้นความรับผิดชอบทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำของเราที่ มาจากประเทศไทยนั้นนั้นตกเป็นความรับผิดชอบของอาจารย์เช่นกัน
เรื่องของความเข้าใจในการฝึก
สำหรับการอธิบายในจุดนี้เป็นสิ่งที่อธิบายยากมาก ยิ่งอธิบายให้กับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกอาจจะไม่เข้าใจเลย แต่ สำหรับผู้ที่รับการฝึกมาบ้างแล้วอาจจะพอเข้าใจได้
การฝึกหลัก ๆ ของการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นคือ คลาสของอาจารย์มาซะอะกิ และ คลาสของอาจารย์ชิราอิชิ เช่นเคยเหมือนปีที่แล้ว เมื่อเข้ารับการฝึกการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการฝึกไม่เหมือนกับการฝึกที่ประเทศไทย
แต่เนื่องจากปีที่แล้วได้มาฝึกแล้วครั้งหนึ่งครั้งนี้เลยพอจะเข้าใจกับรูปแบบการฝึกในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น
สิ่งที่ชัดเจนมากกว่าปีก่อนคือ “ความยาก” การฝึกตามรูปของอาจารย์ชิราอิชิ นั้น อาจารย์จะทำการแสดงให้ดูก่อน โดยเรียกผู้เข้ารับการฝึกทุกท่านมาเป็นคู่ด้วย ซึ่งเมื่ออาจารย์แสดงให้ดู เราก็จะสามารถเห็นท่าที่อาจารย์ทำ และ เมื่อเราได้เป็นคู่เราก็จะได้ความรู้สึกในท่านั้น ๆ ความยากที่ผมพยายามจะบอกคือทั้งสองจุดนี้ ผมขอเล่าเป็นสองส่วนคือ ส่วนการฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิ กับ ส่วนการฝึกกับอาจารย์มาซาอะกิ
ฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิ
ครั้งนี้ผมคิดว่าผมมองเห็นการเคลื่อนไหวในท่าที่ฝึกนั้นได้ชัดขึ้น เช่นการก้าวเท้าการถ่ายน้ำหนัก ซึ่งมองแล้วเป็นสิ่งที่ง่ายมาก ตอนอาจารย์แสดงให้ดูก็เพลินดี ดูเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติธรรมชาติ เหมือนการเดินของคนปกติทั่วไป ที่ไม่ได้ตั้งใจจะต้องถ่ายน้ำหนักหรือนั่งม้าเหมือนในหนังจีนกำลังภายใน
แต่เมื่อถึงเวลาซ้อมกลับ “ทำไม่ได้”
เมื่อทำการฝึกต่อไป อาจารย์ชิราอิชิจะเข้ามาทำท่านั้น ๆ ให้ดูอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เรียก อาจารย์เอกไปเป็นคู่ด้วย ดูแล้วเพลิน ดูอาจารย์ทำง่าย ๆ เช่นเดิมกับที่ทำในครั้งก่อนหน้า แต่คราวนี้ปรากฏว่าจากที่คิดว่ามองเห็นว่าอาจารย์เคลื่อนไหวอย่างไรแล้ว กลับกลายเป็นว่า มองอีกทีแล้ว “มองไม่เห็นอะไรเลย” โชคดีเช่นเคยที่อาจารย์เอกแนะนำเพิ่มเติมให้ภายหลังระหว่างการฝึกอีกครั้ง แต่สำหรับผมแล้วการมองไม่เห็นอะไรเลยไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้อะไรจากการฝึกเลย สิ่งที่เราได้เราเห็นเป็นตามระดับความรู้ของเราในการฝึก ซึ่งเราสามารถเอาแนวคิดและหลักของการฝึกที่เราสามารถเอามาพัฒนาตนเองเมื่อกลับมาฝึกที่ประเทศไทยได้ต่อไป
ฝึกกับอาจารย์มาซาอะกิ
สำหรับการฝึกกับ อ.มาซาอะกิ สำหรับผมอธิบายได้สั้น ๆ ครับว่ายากมาก แทบมองไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้อาจารย์ก้าวอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร ที่พอจะมองเห็นบ้างเล็กน้อยนั้นจะมาจากพยายามทำความเข้าใจในการฝึกจากคลาสของอาจารย์ชิราอิชิ และ พยายามดูให้เห็นมากที่สุดเท่านั้น แต่ผลลัพธ์เหมือนเดิมคือ เมื่อถึงเวลาซ้อมมักจะรู้สึก “ทำไม่ได้” แต่สิ่งที่ได้ชัดเจนคือแรงบันดาลใจว่าสักวันเราคงจะเก่งได้สักครึ่งของอาจารย์
สรุปโดยรวม ๆ แล้ว สำหรับการฝึกนั้นผมมองว่าเดินถูกทางและชัดเจนพอสมควร เพราะ จากที่เล่าให้ฟังกับการฝึกในคลาสของอาจารย์มาซาอะกินั้น สิ่งที่พอรับได้ก็คือ สิ่งที่ฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิมาในวันก่อนหน้า ที่ผมกล่าวอย่างนี้ก็เพราะจากที่เห็นชัดเจนในการเข้ารับการฝึกว่า อาจารย์ชิราอิชิในวัย 70 กว่าปี ก็ยังคงเข้าเป็นอุเคะให้กับอาจารย์มาซาอะกิอยู่ ซึ่งนั้นหมายความว่าอาจารย์ชิราอิชิสามารถเข้าไปรับการเคลื่อนไหว และ สิ่งอื่น ๆ จากอาจารย์มาซาอะกิเช่นกัน
อีกส่วนหนิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การฝึกในลักษณะนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ฝึกในระดับต้น ๆ ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นนั้นก็ควรจะได้ระดับสายที่ไม่ใหม่จนเกินไป
สำหรับสิ่งสุดท้ายในบทความนี้ที่อยากจะบอก คือ การเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นสมัยนี้คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่สำหรับการเดินทางไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลาย ๆ คนเช่นกัน เพราะคงไม่ใช่แค่เพียงมีเงินแล้วก็มาได้ แต่มันต้องมีส่วนประกอบมากมายทั้งมุมมอง ความคิด ความรับผิดชอบ การพยายามเข้ารับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสิ่งอื่นๆ ในคำว่า Work-Life balance ที่จะทำให้เดินทางมาแล้วได้ประโยชน์จากการฝึกอย่างแท้จริง

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Training trip in japan 2015

Training trip in japan 2015


           อีกครั้งกับการไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่น บทความที่ตั้งใจเขียนตั้งแต่ครั้งก่อนยังได้ไม่ครบ คราวนี้ถึงรอบที่จะต้องเดินทางไปฝึกอีกรอบแล้ว ยกยอดมารวมกันครั้งนี้ หลังจากที่กลับมาแล้วกัน
สำหรับครั้งนี้ มีสมาชิกที่่ร่วมเดินทางเพื่อเข้าฝึกจากโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย อีก 5 คน ซึ่ง สำหรับคราวนี้มีสมาชิกที่จะเข้ารับการสอบระดับ 5 (Go Dan) หลายคน ซึ่งก็คงคิดว่าคงสามารถสอบผ่านได้ หวังว่า เอาไว้ว่าง ๆ จะมาเล่าถึงการสอบระดับ 5 เช่นกันยกเอาไว้หลังจากกลับมาแล้วกันครับ

วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Attitude of Mind

Attitude of Mind 

        เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผมได้อ่านกระทู้ใน Website อยู่กระทู้หนึ่ง ใจความสำคัญง่าย ๆ คือไปเรียนทำขนมกับ โรงเรียนที่เปิดสอน เมื่อเรียนจบก็มาทำการเปิดสอนโดยคิดราคาที่ถูกกว่า เจ้าของกระทู้มา Post ถามว่าเขาทำผิดอะไร ในกระทู้นั้น มีการแสดงความเห็นหลากหลาย แบ่งเป็น 2 กลุ่มง่าย ๆ คือไม่ผิดเพราะไม่ได้มีข้อตกลงกันเอาไว้(ไม่ได้ทำสัญญานั้นเอง) และอีกกลุ่มหนึ่งคือผิด เพราะเอามาสอนทั้ง ๆ ที่สูตรที่เรียนมานั้นไม่ได้ดัดแปลงอะไรเลย ถ้ามองในแง่มุมของธุรกิจคงตัดสินโดยใช้หลักการ ต่าง ๆ มากำหนดมากมาย เช่น กฎหมาย, ลิขสิทธิ์ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งผมคงไม่ตัดสินอะไรเพียงแต่เอามาเป็นตัวอย่างเพื่อขยายความคิดผมเท่านั้น

สำหรับมุมมองผมในประเด็นเดียวกันแต่ในหลักการของนักศิลปะการต่อสู้แล้ว สำหรับผมตัดสินได้ไม่ยาก 

              ปัจจุบันทั้งศิลปะการต่อสู้สมัยใหม่ (Gendai budo) หรือ ศิลปะการต่อสู้โบราณ (Ko budo) หลายๆ วิชาจะมีการแบ่งลำดับสายให้แก่ผู้ฝึกซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละวิชาจะมีกฎเกณฑ์อะไร และเมื่อได้ลำดับสายในระดับหนึ่งตามที่กำหนดก็จะสามารถไปทำการเปิดสอนได้ ขึ้นอยู่กับในแต่ละวิชาว่าจะมีกฎอะไรเพิ่มเติมซึ่งล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์ในกฎที่ตั้งมานั้น ๆ ในบูจินกัน ก็เช่นกัน โดยหลัก ๆ ข้อกำหนดในการเปิดสอนนั้นก็คือ ผู้สอนที่มีระดับสายดำระดับ 5 เป็นต้นไปถึงจะมีสิทธิ์ในการเปิดโรงฝึก และในระดับที่ต่ำกว่าขั้น 5 ลงไปสามารถเปิดเป็นกลุ่มฝึกและต้องมีสายดำระดับที่สูงกว่าขึ้นไปรับรอง แต่ที่มีมากกว่านั้นสำหรับผมอีกหนึ่งกฎเกณฑ์ง่าย ๆ คือ  ii kokoro แปลง่าย ๆ คือ คนที่มีจิตใจดี มาสืบทอด มองแล้วเป็น กฎเกณฑ์ง่าย ๆ แต่ยากสำหรับหลาย ๆ อย่าง จริง ๆ อาจารย์เอก ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับความหมายของคำนี้เอาไว้อย่างละเอียดแล้ว ซึ่งผมคงไม่สามารถมาขยายความได้เพิ่มเติมอีก แต่หากพูดถึงในส่วนของการเป็นลูกศิษย์จะดีกว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับที่ผมเอาเรื่องข้างต้นมาเป็นตัวอย่าง ง่าย ๆ แบบนี้ครับ
พร้อมหรือยังที่เอาสิ่งที่เรียนมาไปสอน      ขออนุญาตหรือยังกับการนำสิ่งที่ได้รับมาไปสอน
ในตัวอย่างข้างบนอาจจะไม่เป็นเรื่องผิดเลยก็ได้หากขออนุญาตก่อน(แต่ต้องยกเรื่องของธุรกิจออกไป) อ่านมาตรงนี้หลายคนอาจจะมองออก หลายคนอาจไม่ สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อจริง ๆ แล้วคือจิตใจ การเรียนศิลปะการต่อสู้เป็นสายใยระหว่าง อาจารย์ กับ ศิษย์ ดังนั้น การสืบทอดในสิ่งต่าง ๆ จากลูกศิษย์ถึงอาจารย์ รวมถึงการถ่ายทอดจากอาจารย์สู่ลูกศิษย์นั้นมักเกิดจากจิตใจที่ดีรวมไปถึงความถูกต้องซึ่งต้องถ่ายทอด สั่งสม ให้เกิดแนวความคิดที่ถูกต้องนั้น ๆ ด้วย ซึ่งสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จริง ๆ แล้วหลักการในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่และใช้เฉพาะศิลปะการต่อสู้เท่านั้น การใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มักถูกมองข้าม แม้จะเป็นศิลปะการต่อสู้เองก็ตาม เรามักเห็นการถ่ายทอดหรือการนำมาสอนที่ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้นเลยปัจจัยส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะแนวความคิดที่มีธุรกิจมาเกี่ยวข้อง จากตัวอย่างข้างบนคงไม่เป็นอันตราเพราะสอนทำขนม แต่สำหรับศิลปะการต่อสู้นั้นไม่ใช่ การสอนในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่พร้อม ไม่ถูก รังแต่จะเป็นผลร้ายต่อคนที่รับการถ่ายทอดไป

บทความ ii kokoro ที่อาจารย์เขียนไว้
http://shingitaiblog.blogspot.com/2013/09/ii-kokoro.html

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

Bujinkan Thailand กับกิจกรรมสิ้นปี 2557

ฺBujinkan thailand กับกิจกรรมต่างๆ ในปี 2557 

ก่อนอื่นต้อง สวัสดีปีใหม่ ช้าไปหน่อยแต่ก็ยังไม่เลยเดือน 

ผ่านพ้นไปอีก 1 ปีแล้วสำหรับ Bujinkan thailand เช่นเดิมสำหรับปีนี้กับการประชุมใหญ่ประจำปีและกิจกรรมต้อนรับปีใหม่

ซึ่งคือเข้ารับการฝึกและช่วยกันทำความสะอาดโรงฝึก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฎิบัติต่อ ๆ กันมา และรวมถึง มีกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปีที่ผ่านมาให้เยอะพอสมควร 
โดยแต่ละกิจกรรมก็ยังคงมุ่งเน้นให้สมาชิกที่เข้ารับการฝึกนั้นได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการฝึก และรวมถึงการใช้ชีวิต ดังคำว่า Work life balance ตัวอย่างเช่น 
  1. สมาชิกที่เดินทางเข้าร่วมฝึกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ข้อคิดดี ๆ หลายอย่างจากการเดินทางไปในครั้งนี้ ทั้งการพัฒนาในด้านการฝึก จิตใจ และแนวความคิด มุมมองต่าง ๆ จากที่เคยฝึกและพบเจอผู้ฝึกแค่เฉพาะในโรงฝึก แต่เมื่อไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่น กลับได้พบผู้ฝึกที่มีประสบการณ์ เจอผู้ฝึกที่ระดับสูงกว่า เก่งกว่า ทำให้รู้ได้ว่าเราควรจะต้องพัฒนาตนเองต่อไป ได้คำสอนจากอาจารย์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อคิดในการใช้ชีวิตได้ต่อไป 
  2. กิจกรรมการฝึกอบรมปืนพกสั้น หลายคนอาจคิดไปในหลาย ๆ แง่ แต่สำหรับผม การฝึกอบรมนี้ ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่ อ. ได้มอบให้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ถึงแม้เราจะฝึกวิชาการต่อสู้โบราณ แต่เราก็ไม่ควรยึดติดกับอดีต ควรอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นไม่ใช่มีความรู้แค่อาวุธโบราณต่าง ๆ แต่เราควรเรียนรู้อาวุธที่เป็นปัจจุบันด้วย เช่นเดิม การฝึกศิลปะการต่อสู้ไม่ได้เรียนไว้ทำร้ายใครแต่เรียนเอาไว้เพื่อพัฒนาตนเอง ดังนั้นนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างที่พัฒนาไปอีกหนึ่งสิ่ง 
ส่งท้ายสำหรับ บทความนี้ อยากจะฝากบอกกับใครหลาย ๆ คน ว่าผ่านไปอีกหนึ่งปี ใครที่คิดว่าตนเองอยากทำสิ่งใดแต่ยังไม่ได้ทำก็ควรตัดสินใจทำ เช่นเดียวกันกับคนที่อยากฝึกแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น ก็ควรเริ่มต้นได้แล้วลองคิดดูระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปี เราคงจะพัฒนาได้แค่ไหน และรวมถึงผู้ที่ฝึกอยู่ด้วยเช่นกันที่ควรจะพัฒนาตนให้ดีขึ้นเช่นกัน